เพลงเพื่อชีวิตในยุค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ของ เพลงเพื่อชีวิต

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนนักศึกษาและประชาชน เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ส่งผลให้เพลงเพื่อชีวิตพัฒนาขึ้นมาอย่างถึงขีดสุด โดยหลังจากที่นายจิตร ภูมิศักดิ์ผู้ถูกคุมขังในฐานะนักโทษทางการเมืองได้เผยแพร่ผลงานของเขาแล้ว คนก็เริ่มเขียนกลอน กวี ภายใต้อุดมการณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้เพลงเพื่อชีวิตในรูปแบบของปัญญาชนถือกำเนิดขึ้น อีกทั้งกวีของเขาต่อมาได้ถูกนำไปใส่ทำนอง ได้แก่ แสงดาวแห่งศรัทธา และ เปิบข้าว เป็นต้น

จากเหตุการณ์ทุ่งใหญ่ที่จังหวัดกาญจนบุรีที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พาดาราสาวไปเที่ยวป่าล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเกิดเหตุเครื่องบินตก เป็นผลให้พบซากสัตว์ป่าที่ถูกล่ามากมายนั้น สื่อมวลชนและนักศึกษาได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่และได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือในนาม ชมรมคนรุ่นใหม่ ชื่อว่า มหาวิทยาลัยยังไม่มีคำตอบ ตีพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่กล่าวว่าสถานการณ์ต่างประเทศไม่น่าไว้วางใจ หนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำเสียดสี สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี จากการกระทำนี้ ส่งผลให้นักศึกษาทั้ง 15 คนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และ9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชานจึงรวมตัวกันประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับเป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมประท้วงข้ามวันข้ามคืน

ในยุคนั้นได้ให้กำเนิดศิลปินเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมาอย่างมากมายผ่านเวทีทางการเมือง มีการแต่งบทเพลง สู้ไม่ถอย โดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และได้รับการยอมรับว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตเพลงแรก ลักษณะเป็นเพลงมาร์ชที่ปลุกเร้าสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนที่มาชุมนุม นอกจากนี้ยังมีศิลปินเพลงเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ ถือกำเนิดบทบาทขึ้นมา นั่นก็คือ สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เขาเป็นผู้ที่อยู่ร่วมในการประท้วง คอยแต่งบทกลอนต่างๆให้โฆษกบนเวทีอ่านเพื่อปลุกเร้ากำลังใจและรวบรวมความคิดให้เป็นหนึ่งเดียว เขาได้แต่งเพลง สานสีทอง โดยนำทำนองมาจากเพลง Find The Cost Of Freedom ของวง Crosby Still Nash & Young เพลงนี้เกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันกับเพลงสู้ไม่ถอย ทำให้เพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นบทเพลงทางวัฒนธรรมที่ขับขานเพื่อเล่าเรื่องราวของสังคมในสมัยนั้น ทั้งยังให้กำเนิดวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่คนรุ่นนั้นเป็นอย่างมาก คือวง คาราวาน

สุรชัย จันทิมาธร นามปากกา ท.เสน กับ วีรศักดิ์ สุนทรศรี นามปากกา สัญจร ได้ก่อตั้งวงดนตรี ท.เสนและสัญจร ขึ้น เพื่อร่วมแสดงดนตรีในการชุมนุมประท้วง บทเพลงของพวกเขาได้นำเอาพื้นฐานดนตรีตะวันตกที่มีเครื่องดนตรีอคูสติก เช่น กีตาร์ ฮาร์โมนิกา และเครื่องดนตรีเคาะจังหวะ ตามสไตล์ของ Bob Dylan ศิลปินอเมริกันที่โด่งดังอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน มาประยุกต์เข้ากับเนื้อร้องภาษาไทยและได้ครองใจประชาชนทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังวงอื่นๆ เช่น คุรุชน, กงล้อ, รวมฆ้อน และโคมฉาย ที่ใช้รูปแบบดนตรีเดียวกัน มีกลุ่มอื่นที่ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความคึกคัก เช่น วงกรรมาชน, วงรุ่งอรุณ และวงไดอะเล็คติค และกลุ่มที่มีท่วงทำนองเพลงไทยเดิมและพื้นบ้าน ใช้เครื่องดนตรีไทย เช่น วงต้นกล้า มีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์เป็นสมาชิกรุ่นที่หนึ่ง วงลูกทุ่งสัจธรรม และวงอื่นๆอีกมากมายเกิดขึ้นมา ในการแสดงของ ท.เสน และสัญจรจะมีการบันทึกแถบเสียงทุกครั้งเพื่อใช้ไว้เผยแพร่ในโอกาสต่างๆทำให้บทเพลงของพวกเขาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้น ท.เสนและสัญจรได้มีโอกาสรู้จักกับวงดนตรีบังคลาเทศแบนด์ ที่มี ทองกราน ทานา และมงคล อุทก มงคล อุทก และได้รวมตัวขึ้นเป็นวงดนตรีคาราวาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของดนตรีเพื่อชีวิต ด้วยผลงานและความสามารถของพวกเขาทำให้บทเพลงเพื่อชีวิตสามารถเปิดการแสดงร่วมกับวงดนตรีในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง หรือเปิดการแสดงตามโรงภาพยนตร์ได้

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาผ่านพ้นไป นายสัญญา ธรรมศักดิ์ รัฐบาลพลเรือนที่สนับสนุนบทบาทของนักศึกษาในเรื่องประชาธิปไตย ให้เสรีกับประชาชนอย่างเต็มที่ มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชี้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ มีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ลัทธิของมาร์กซ-เลนิน นำเสนอประเด็น ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน และอื่นๆ เปิดเผยสู่สายตาสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำความคิดทางการเมืองซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามในอดีต เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคนอื่นๆก็ได้รับการกล่าวถึง และแตกหน่อเป็นความคิดใหม่ๆเกี่ยวกับสังคมไทยเช่นกัน โดยเผยแพร่ออกมาในรูปแบบคล้างกับเพลงเพื่อชีวิตที่ประท้วงสงครามเวียตนามในสหรัฐอเมริกา

ช่วงปี พ.ศ. 2517-2519 เป็นช่วงที่เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมถึงขีดสุดในแวดวงนักศึกษาและปัญญาชน เพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นมีมากกว่า 2000 เพลง เนื้อหาทั้งหมดครอบคลุมกิจกรรมที่นักศึกษาปัญญาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง คาบเกี่ยวระหว่างการสะท้อนปัญหาบ้านเมืองกับการแสดงออกซึ่งอุดมคติในการสร้างสรรค์สังคมใหม่ ผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ และบทเพลง ซึงเพลงเพื่อชีวิตเองก็มีบทบาทที่สำคัญในการบ่มเพาะความคิดความอ่านเกี่ยวกับตนเองและสังคมส่วนรวมให้กับหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น

จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการปราบปรามนิสิตนักศึกษาครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตนักศึกษาบางส่วนจึงได้หลบหนีเข้าป่าเพื่อร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไป

แหล่งที่มา

WikiPedia: เพลงเพื่อชีวิต http://www.14tula.com/before_index.htm http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=easywander... http://www.forlifethailand.com/index.php?option=co... http://books.google.com/books?id=QzX8THIgRjUC&pg=P... http://www.kongkapan.com/webboard/index.php?topic=... http://www.kreenjairadio.com/interview/index.php?c... http://topicstock.pantip.com/chalermkrung/topicsto... http://www.positioningmag.com/content/%E0%B9%80%E0... http://www.raintreepub.com/index.php?lay=show&ac=a... http://news.sanook.com/1263632/